หน้าแรก: >เกร็ดปรัชญาเมทริกซ์ : สังเขปเมทริกซ์ : แฟนเพจ |
"Spoon Boy" : ปริศนาธรรม "ไม่มีช้อน"
นักบวชเด็ก Spoon Boy : Do not try and bend the spoon. That's impossible. Instead, only try to realize the truth.
อย่าพยายามงอช้อนเลย มันเป็นไปไม่ได้, พยายามเข้าถึงความเป็นจริงเถิด
นีโอ : What truth? : ความจริงอะไร
นักบวชเด็ก Spoon Boy : There is no spoon. : ไม่มีช้อน
นีโอ : There is no spoon? : ไม่มีช้อนหรอ?
นักบวชเด็ก Spoon Boy : Then you'll see that it is not the spoon that bends. It is only yourself.
ลองดูซิ ไม่ใช่ช้อนที่งอ แต่ตัวคุณงอ ต่างหาก
- รูปขวา "Rowan Witt" นักแสดงที่แสดงเป็นนักบวชน้อย หรือ Spoon Boy ใน The Matrix ...โตเป็นหนุ่มแล้ว :) -
- Spoon Boy ปรากฏในภาคหนังสือการ์ตูน The matrix เรื่องสั้นตอน "Artistic Freedom" : เรื่องราวของ ศิลปินสาวคนหนึ่ง เธอนอนหลับฝัน เห็นหุ่นเครื่องจักรประหลาด (หุ่นปลาหมึก Sentinel :) จึงได้แรงบันดาลใจ สร้างขึ้นเป็นผลงานศิลปะในรูปแบบประติมากรรมสมัยใหม่ แต่ขณะแสดงผลงานอยู่นั่นจู่ๆเธอก็เห็นนิมิตภาพหลอน หุ่น Sentinel บุกอาละวาดทำร้ายผู้คน!...ในเรื่องยังเป็นการเผยที่มาของแรงบันดาลใจ "There is no spoon" ที่ นักบวช Spoon Boy พูดถึง -
บทสนทนา ปริศนาธรรม "ไม่มีช้อน" ระหว่างนักบวชเด็กน้อยกับนีโอ ใน The Matrix(ภาคแรก) บทนี้ เป็นการเล่นกับการแฝงปรัชญาขั้นสูง เป็นปริศนาธรรมที่ลึกซึ้ง-ซับซ้อน-(สร้างความมึน!)แบบพุทธนิกาย "เซน"(Zen) ได้อย่างน่าสนใจ...นักบวชน้อย เตือนสติ-สะท้อน นีโอว่า "ไม่ใช่ช้อนที่งอ แต่ตัวคุณงอต่างหาก" หรือ ช้อนมันงอ เพราะใจคุณงอ เป็นการสื่อนัยยะ ความสัมพันธ์ของสภาวะสรรพสิ่งทั้งปวง ช้อนจะงอได้ก็เพราะ > ต้องมีตัวตนคุณไปเห็นมันก่อน > แล้วจึงบอกได้ว่ามันกำลังงอ...หากไม่มีตัวคุณไปเห็นจะบอกได้อย่างไรว่ามีช้อน ทำนองเดียวกันถ้าไม่มีช้อนซะอย่างเดียว การงอของช้อนก็มิอาจเกิดขึ้น...และเมื่อ นีโอ มองช้อน ช้อนก็งอ ตัวนีโอเองก็สะท้อนงอในช้อนที่กำลังงออยู่นั้น...ปริศนาธรรมแบบนี้มีลักษณะเหมือนกันกับ นิทานธรรมะเซน อาทิ บทหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า...อาจารย์เซน"ฮุ่ยเหนิง"(เว่ยหล่าง) สังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ได้จำวัดอยู่ที่วัดฝ่าซิ่ง ซึ่ง ณ ที่นั้น ท่านพบพระสองรูปซึ่งกำลังถกเถียงกันอย่างคร่ำเคร่งเกี่ยวกับเรื่องของ ธงและลม
พระรูปหนึ่งกล่าวว่า : "เห็นชัดๆ ว่าธงกำลังปลิวไสว"
พระอีกรูปหนึ่งค้านว่า : "เป็นลมต่างหากที่ไหว หากไม่มีลมธงจะปลิวได้อย่างไร?"
[ พระทั้งสองรูปต่างก็ยึดเหตุผลของตนเป็นใหญ่ ต่างถกเถียงกันไม่เลิกรา โดยไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้ใคร ]
[ ในที่สุดอาจารย์เซนฮุ่ยเหนิงที่ฟังอยู่ด้านข้าง จึงกล่าวขัดขึ้นว่า ]
"มิใช่ธงไหว และมิใช่ลมไหว แต่เป็นใจของพวกท่านต่างหากที่ไหว"
และ ปริศนาธรรม "ไม่มีช้อน" นี้ ยังเป็นการสะท้อน การยึดติด-ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งสมมุติ ได้อย่างดี ทำนองเดียวกับนิทานเซนอีกเรื่อง ซึ่งถึงแม้จะเป็นถึงพระระดับอาจารย์แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีความยึดติดได้ นั้นคือ กรณี พระอุ้มผู้หญิงข้ามแม่น้ำ เรื่องมีอยู่ว่า...วันหนึ่งพระอาจารย์เพื่อนกัน 2 รูป อาจารย์"ตันซาน" กับ อาจารย์"เอโดกิ" ได้เดินทางไปตามถนนเฉอะแฉะเพราะฝนกำลังตกหนัก และได้พบหญิงสาวสวยกำลังรีรอจะข้ามแม่น้ำ อาจารย์ตันซานจึงเข้าไปอุ้มเธอข้ามฝั่ง อาจารย์เอโดกิ ถึงกับอึ้ง! ตกใจมาก แต่ไม่กล้าปริปากพูด จนกระทั่งตอนกลางคืน ครุ่นคิด หนักอกหนักใจ นอนไม่หลับ ทนไม่ไหว...
อาจารย์เอโดกิจึงถามอาจารย์ตันซานว่า : “พระเราแตะต้องผู้หญิงไม่ได้ โดยเฉพาะสาวสวยเช่นนั้นยิ่งอันตราย ทำไมท่านกล้าทำถึงขนาดนั้น”
อาจารย์ตันซานตอบว่า : “ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งนานแล้ว คุณยังอุ้มเธออยู่หรือนี่”
เรื่องพระอุ้มผู้หญิงข้ามแม่น้ำนี้แสดงให้เห็นว่า วิธีคิดของอาจารย์ตันซานได้ก้าวข้ามพ้นจากการแยกแยะของสมมติบัญญัติ ซึ่งในที่นี้คือกฎพระวินัย ไปสู่แก่นแท้ของหลักธรรมคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่อาจารย์เอโดกิยังคงยึดติดกับสมมติบัญญัติอยู่ หรือกล่าวได้ว่าอาจารย์ตันซานได้ปลดปล่อยตัวเองจากบัญญัติทางโลกในขณะที่อาจารย์เอโดกินั้นยังไม่ไปถึงไหน ยังคงติดข้องอยู่ในบัญญัติ กฏเกณฑ์...นี้สะท้อนให้เห็นว่าบางทีมนุษย์ก็เถรตรง(ยึดติด) กับกฏเกณฑ์เกินไป ไม่ได้มองสภาวะ-สถานะการณ์ที่ควรจะเป็น จิตจึงมิอาจหลุดพ้น แบบเดียวกับ ปริศนาธรรม "ไม่มีช้อน" ..."ช้อนมันงอ เพราะใจคุณงอ" จริงๆแล้ว ช้อน ไม่ได้มีอยู่ทั้งการงอของช้อนเป็นเพียงสิ่งสมมุติ ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถึงขนาดงอตามช้อน หรือ กลายไปช้อนไปด้วยซะงั้น! ...กฏเกณฑ์บรรดามีทั้งหลายก็ทำนองเดียวกัน เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ตามความเหมาะ ใช่สร้างเพื่อให้ยึดติดเอามาเป็นกรงขังจิตตนเอง
ปล. นอกจากนิทานพระเซนต่างๆที่ยกตัวอย่างแล้วแล้ว พระคนไทยเรา(หลายๆท่าน)ก็สอนเรื่อง ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง กับ การยึดติด-ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งสมมุติ ทำนอง ปริศนาธรรม "ไม่มีช้อน" ไว้ได้อย่างลึกซึ้ง น่าคิด-น่าประทับใจ ด้วยเช่นกัน อาทิ ตัวอย่างคำสอนของ "หลวงพ่อชา" กรณี ไม้สั้นไม้ยาว...
"ลองดูไม้ท่อนนี้ซิว่า สั้น หรือ ยาว ถ้าคนอยากได้ไม้สั้น ไม้ท่อนนี้ก็ยาว
ถ้าคนอยากได้ไม้ยาว ไม้ท่อนนี้ก็สั้น ตัณหาของคนต่างหาก ที่ทำให้ไม้สั้น หรือ ยาว"...หลวงพ่อชา
[ - ไม่ใช่ไม้ที่ยาว-สั้น แต่ตัวคุณยาว-สั้น ต่างหาก -]